Wednesday, December 24, 2008

การศึกษาสังเกตการจัดสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกห้องเรียน (PROF 101)

บทที่ 1
สภาพแวดล้อมของเด็กปฐมวัย


ความหมายของสภาพแวดล้อมในโรงเรียนอนุบาล

สภาพแวดล้อม ตามความหมายทั่วไปของพจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 หมายความถึง “ธรรมชาติที่แวดล้อมอยู่” ความหมายนี้จะกล่าวถึงธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต หรือทรัพยากรธรรมชาติก็ได้
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2548: 7) ได้ให้ความหมายของสภาพแวดล้อมในโรงเรียนปฐมวัยว่า หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโรงเรียนปฐมวัยศึกษาที่แวดล้อมตัวเด็ก มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดและการเรียนรู้ของเด็ก
บุญเสริม พูลสงวน (2530: 5) ได้ให้ความหมายของ “สิ่งแวดล้อม” ไว้ว่า สิ่งใดก็ตามไม่ว่าจะเกิดขึ้นได้เองในธรรมชาติหรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ แล้วมีผลเกี่ยวข้องกับตัวเราไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมถือว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น บุญเสริม พูลสงวน ได้จัดสิ่งแวดล้อมออกเป็น 2 พวก คือ สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น
ขวัญจิรา ภู่สังข์ และคณะ (2543: 49) กล่าวถึงความหมายของการจัดสภาพแวดล้อมของสถานศึกษาปฐมวัยว่า หมายถึง อาคารสถานที่และบริเวณโรงเรียนที่ใช้เป็นที่จัดการเรียนการสอน และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน มีความสำคัญต่อนักเรียน และผู้ปฏิบัติงานในสถานศึกษา
ทัศนา แก้วพลอย (2544: 197) กล่าวว่า การจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัย หมายถึง การจัดทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวัสดุอุปกรณ์ อาคารสถานที่ รวมทั้งบุคลากรที่เกี่ยวข้องในสถานศึกษาปฐมวัย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ
เบญจา แสงมะลิ ( 2531: 228) ได้ให้ความหมายของสภาพแวดล้อมในสถานศึกษา ว่า “ สถานศึกษาเด็กปฐมวัยเป็นสถานที่ ที่จัดให้เด็กปฐมวัยอยู่รวมกันและทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเป็นสุข สะดวก สนุก สบายและปลอดภัย สภาพแวดล้อมจะมีทั้งสภาพแวดล้อมภายในและสภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน”
Report of the Task Force on Early Childhood Education (1927:27) ได้ให้ความหมายของคำว่า “สิ่งแวดล้อม” ไว้ว่า สิ่งแวดล้อม คือ สิ่งที่กระตุ้นให้ความสะดวกสบาย และให้ความเป็นเด็กแก่เด็กด้วยบล็อก บ่อทราย เครื่องเล่นอื่นๆ และกิจกรรมต่างๆ ที่จะพัฒนาเด็กในทุกด้าน คือ ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

จากความหมายข้างต้นที่กล่าวมาสามารถสรุปความหมายได้ว่า การจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัย หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมๆในสถานศึกษาปฐมวัยทั้งภายในห้องเรียน ภายนอกห้องเรียน เพื่อช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้รับประสบการณ์จากการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ทำกิจกรมร่วมกันอย่างมีความสุข สนุก สบาย สะดวก ปลอดภัย ตลอดจนส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี

แนวคิดพื้นฐานในการจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัย

การจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัยมีแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญหลายประการที่ต้องนำมาพิจารณาในการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อพัฒนาเด็ก แนวความคิดที่สำคัญได้แก่ แนวความคิดในการจัดสถานศึกษา แนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนา แนวความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้และแนวความคิดเกี่ยวกับจิตสำนึกที่มีต่อสภาพแวดล้อม

1.แนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษากับการจัดสภาพแวดล้อม
การจัดการศึกษาปฐมวัยได้ยึดแนวคิดของผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเด็กกับการศึกษาระดับปฐมวัยหลายท่าน ซึ่งจะขอกล่าวถึงท่านต่อไปนี้
เฟรอเบล มีความเชื่อว่า การส่งเสริมการพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็กด้วยการกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ใช้การเล่นและกิจกรมเป็นเครื่องมือ นอกจากนั้นการจัดสถานที่ สภาพแวดล้อมให้ร่มเย็นช่วยส่งเสริมพัฒนาของเด็ก
มอนเตสซอรี่ มีความคิดแตกต่างจากเฟรอเบลบ้างเล็กน้อย มอนเตสซอรี่มีแนวความคิดว่า การจัดกิจกรรมหรือการจัดประสบการณ์ให้เด็กควรให้เสรีภาพในการแสวงหาความรู้ และเป็นไปด้วยความสมัครใจ และความคิดถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคล สภาพแวดล้อมที่จัดให้เด็กควรคำนึงถึงความต้องการและความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็ก
เพียเจท์ มีแนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กว่า พัฒนาการแต่ละขั้นจะมีลักษณะบ่งชี้ถึงความปกติของพัฒนาการแต่ละขั้นนั้นๆ เด็กแต่ละคนจะมีลักษณะเฉพาะแต่ละด้าน วิธีการเรียนรู้แตกต่างกัน และวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ การเรียนรู้ที่เกิดจากการเล่นและสิ่งที่เป็นรูปธรรม สภาพแวดล้อมที่จัดในสถานศึกษาจึงต้องมีความหลากหลาย
ดิวอี้ เชื่อว่า เด็กจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อสภาพการเรียนการสอนเป็นสภาพที่อยู่ในชีวิตจริงของเด็ก โดยเน้นถึงเสรีภาพในการคิด การแสดงออก และการให้การศึกษาแก่เด็ก ยึดเป็นศูนย์กลาง
เปสตาลอสซี เชื่อว่า เด็กแต่ละคนแตกต่างกันทั้งด้านความสนใจและอัตราการเรียนรู้ เด็กจะเรียนรู้และเข้าใจเมื่อเด็กมีความพร้อม และประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม
รุสโซ ได้กล่าวถึง กิจกรรมด้านร่างกายมีความสำคัญมากในช่วง 5 ปีแรกของ
ชีวิตเด็ก เด็กจะเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ซึ่งประสบการณ์ตรงถือว่าเป็นสภาพแวดล้อม นอกจากนั้นรุสโซยังเห็นคุณค่าของการเล่นที่มีต่อเด็กด้วย
จากแนวความคิดของนักการศึกษาที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่า การจัดการศึกษาปฐมวัยเป็นการจัดสภาพแวดล้อมให้แก่เด็กและการจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัยต้องยึดหลักการและแนวความคิดของนักการศึกษา กล่าวคือ การจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัยต้องยึดหลักเด็กเป็นศูนย์กลาง ให้เด็กได้มีเครื่องเล่น ใช้การเล่นเป็นสื่อในการเรียนรู้ของเด็ก สภาพแวดล้อมที่จัดควรเป็นสภาพแวดล้อมที่ให้ประสบการณ์ตรง และให้เสรีภาพในการแสวงหาความรู้ตามความสามารถและความแตกต่างของแต่ละบุคคล

2. แนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดสภาพแวดล้อม
พัฒนาการเริ่มต้นตั้งแต่การปฏิสนธิต่อเนื่องไปตลอดชีวิต พัฒนาการของคนแต่ละด้านเป็นไปตามลำดับขั้นตอน โดยขั้นตอนที่ได้พัฒนาไปแล้วจะเป็นพื้นฐานของขั้นตอนที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น พัฒนาการแต่ละด้านของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะแรกของชีวิตนั้น แม้จะมีลักษณะร่วมกันหลายประการ แต่ในการพัฒนาการแต่ละด้านมีทฤษฏีเฉพาะอธิบายได้ แนวในการจัดสภาพแวดล้อม ในสถานศึกษาปฐมวัยต้องพิจารณาถึงทฤษฎีพัฒนาการเด็กด้วยจึงต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมแก่เด็กปฐมวัย
2.1 ทฤษฎีพัฒนาการทางกาย กีเซล (Gesell) อธิบายถึงพัฒนาการทางกายที่มีรูปแบบที่แน่นอนและเป็นไปตามลำดับขั้น สภาพแวดล้อมมีส่วนช่วยส่งเสริมและต่อเติมพัฒนาการของเด็ก กีเซลเน้นถึงการเติบโตและลักษณะของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน ถึงแม้แบบแผนและขั้นตอนพัฒนาการจะเหมือนกัน พัฒนาการของเด็กเป็นกระบวนการที่ประสานสัมพันธ์กันทุกด้านทั้งร่างกาย จิตใจ ดังนั้นการพัฒนาเด็กจึงต้องพัฒนาไปพร้อมๆกันทุกด้าน ทฤษฎีพัฒนาการทางร่างกายของกีเซลมีส่วนในการจัดสภาพแวดล้อมและการจัดกิจกรรมให้แก่เด็กโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาเด็กให้ครบทุกด้าน
ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา เพียเจท์ (Piaget)เชื่อว่าพัฒนาการทางด้านสติปัญญาของเด็กเกิดจากการที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมซึ่งมนุษย์จะซึมซับประสบการณ์และมีการปรับตัวและปรับโครงสร้างทางสติปัญญาเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ซึ่งโครงสร้างของสติปัญญาในอินทรีย์ต้องมีการปรับโครงสร้างให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกับบรูเนอร์ (Bruner) ได้แสดงความคิดเห็นตรงกับเพียเจท์ว่า การเรียนรู้ของเด็กเกิดจากกระบวนการภายในอินทรีย์ การเรียนรู้จะพัฒนาได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับประสบการณ์และสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก จากทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของทั้งสองท่าน การจัดสภาพแวดล้อมสำหรับเด็กปฐมวัยจึงต้องคำนึงถึงหลักการเรียนรู้ว่า สภาพแวดล้อมต้องจัดให้เด็กได้กระทำ สัมผัสด้วยตนเอง ซึ่งจะทำ
2.2 ให้เด็กคิดจินตนาการ และเริ่มเข้าใจสิ่งต่างๆรอบตัวที่สัมพันธ์กันจนเกิดเป็นความคิดรวบยอดของสิ่งนั้นๆ
2.3 ทฤษฎีพัฒนาการทางจิตใจและอารมณ์ ทฤษฎีนี้ออสูเบล (Ausubel) เห็นว่าเด็กมีอารมณ์ 2 ประเภท คือ อารมณ์ดีและอารมณ์ไม่ดี อารมณ์ของเด็กทั้งสองประเภทเกิดได้จากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก ซึ่งการพัฒนาการด้านนี้จะมีผลต่อเนื่องไปถึงบุคลิกภาพของเด็ก
2.4 ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรม สังคมและบุคลิกภาพ ทฤษฎีพัฒนาการจริยธรรม สังคมและบุคลิกภาพ มีบุคคลที่ให้แนวทางเกี่ยวกับทฤษฎีเหล่านี้คือ ฟรอยด์ (Freud) อิริคสัน (Erikson) และดิวอี้ (Dewey) ทั้งสามท่านกล่าวถึงการจัดสภาพแวดล้อมมีบทบาทในการพัฒนาเด็กเป็นอย่างมาก เด็กจะเรียนรู้สภาพแวดล้อมการกระทำของเด็กเอง การเรียนรู้และประสบการณ์ที่เด็กได้จากสภาพแวดล้อมจะมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างมาก เพราะเด็กกำลังอยู่ในวัยที่รับรู้ มีการเลียนแบบ ดังนั้นสภาพแวดล้อมต่างๆ จะมีผลต่อการพัฒนาทางจริยธรรม สังคมและบุคลิกภาพของเด็กเป็นอย่างมาก

3. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดสภาพแดล้อม
จาการกำหนดนิยามของนักจิตวิทยาว่า “การเรียนรู้”หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเป็นผลเนื่องมาจากการได้รับประสบการณ์หรือการฝึกฝน พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ควรเป็นไปในลักษณะที่ค่อนข้างถาวรและจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมก็ได้
จากความหมายนี้ข้อความที่ระบุว่า พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากการได้รับประสบการณ์ ประสบการณ์ในที่ได้มาจากสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กที่เกิดตามธรรมชาติหรือตามสภาพที่ถูกจัดขึ้น
แนวคิดกับการเรียนรู้ที่นักจิตวิทยาได้สรุปไว้ 4 กลุ่มสำคัญ คือ กลุ่มปัญญานิยม กลุ่มมนุษย์นิยม กลุ่มพฤติกรรมนิยม และกลุ่มผสมผสานกลุ่มนักจิตวิทยา ทั้งสี่กลุ่มมีความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้แตกต่างกันในแต่ละแนวคิดซึ่งในที่นี้แนวคิดของกลุ่มปัญญานิยม และพฤติกรรมมีบทบาทเกี่ยวกับการเรียนรู้และการจัดสภาพแวดล้อมมากที่สุด ซึ่งจะอธิบายสั้นๆ ดังนี้
กลุ่มปัญญานิยม ซึ่งนักจิตวิทยาที่สำคัญ คือ บรูเนอร์(Bruner) และออสูเบล (Ausubel) ซึ่งเชื่อกันว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคลและจะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาที่บุคคลได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในการจัดกิจกรรมการเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกให้มากที่สุด และครูควรจัดสภาพการณ์ต่างๆ เพื่อเอื้อให้เด็กได้ค้นพบคำตอบด้วยตนเอง
กลุ่มพฤติกรรมนิยม นักจิตวิทยาที่สำคัญของกลุ่มพฤติกรรมนิยมคือ วัตสัน (J.B.Watson) ธอร์ไดค์ (Thorndike) และสกินเนอร์ (Skinner) นักจิตวิทยาเหล่านี้มีความเชื่อว่า การเรียนรู้ของมนุษย์นั้นเกิดจากการได้มีปฎิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
จะเห็นได้ว่า กลุ่มนักจิตวิทยาปัญญานิยมและกลุ่มพฤติกรรมนิยม เน้นการเรียนรู้ของเด็กกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นสถานศึกษาปฐมวัยจึงควรพิจารณาจัดสถานศึกษาที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้แก่เด็กโดยอาศัยที่จูงใจเด็กและบุคคลให้มาสถานศึกษา

4. แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างจิตสำนึกที่มีต่อการจัดสภาพแวดล้อม
จิตสำนึกในเรื่องสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องต้องปลูกฝังให้แก่เด็กปฐมวัย การที่จะสร้างจิตสำนึกให้แก่เด็กได้ ครูควรต้องเข้าใจในเรื่องที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ ความหมายของจิตสำนึกและการสร้างจิตสำนึกของเด็กปฐมวัยที่มีต่อการจัดสภาพแวดล้อม
4.1 ความหมายของจิตสำนึก คำว่า “จิตสำนึก” หมายถึง ภาวะที่จิตตื่นรู้ตัว สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 (พจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530) จิตสำนึกที่มีต่อการจัดสภาพแวดล้อมจึงพอสรุปความหมายสั้นๆ ได้ว่าเป็นภาวะจิตสำนึกที่สามารถตอบสนองต่อการจัดสภาพแวดล้อมทั้งประสาทสัมผัสทั้ง 5
4.2 การสร้างจิตสำนึกของเด็กปฐมวัยที่มีต่อการจัดสภาพแวดล้อม จิตสำนึกของเด็กปฐมวัยที่มีต่อกาจัดสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ และครูผู้เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยในสถานศึกษาควรปลูกฝังและสร้างความรู้สึกและภาวะที่ดีต่อการจัดสภาพแวดล้อมในสานศึกษาให้แก่เด็ก เช่น วิธีการดูแลรักษาสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ การถนอม การใช้ และการจัดสภาพแวดล้อมให้สวยงามเป็นระเบียบ ไม่เป็นผู้ทำลาย และดูแลรักษาไม่ให้ถูกทำลาย การสร้างจิตสำนึกของเด็กต้องอาศัยระยะเวลา ความสม่ำเสมอ และมีต้นแบบที่ดีในการสร้างจิตสำนึกมีขั้นตอนที่สำคัญ 3 ขั้นตอนดังนี้
1.ขั้นสร้างความตระหนักขั้นนี้ครูต้องทำให้เด็กมองสิ่งรอบๆตัวและตัวเด็กเองว่าสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาและตัวเด็กเองมีความสำคัญ เช่น ถ้าเด็กเห็นว่าห้องเรียนสกปรกจะทำให้ตัวเด็กสุขภาพไม่ดี ไม่สบายตาหรือสบายใจแต่ถ้าห้องเรียนสะอาด เขาจะมีความสบายตาสบายใจและมีผลทำให้เขามีสุขภาพดี
2.ขั้นให้ความรู้ ขั้นนี้ครูควรให้พื้นฐานเกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบที่เขามีต่อสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัย แนวทางในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ซึ่งขั้นนี้ครูควรให้เด็กเรียนรู้จากสภาพความเป็นจริงซึ่งอยู่รอบตัวเด็ก
3. ขั้นสร้างเสริมเจตคติ การสร้างเสริมเจตคติสามารถทำได้โดยการสร้างค่านิยมในการใช้อุปกรณ์ เครื่องในสถานศึกษาอย่างประหยัด สร้างนิสัยให้เด็กเกิดความรู้สึกรับผิดชอบ รู้ผิดชอบชั่วดี โดยการให้เด็กเห็นตัวแบบที่ดีและฝึกปฏิบัติจริง เพื่อสร้างจิตสำนึกให้แก่เด็กควรทำหลายๆวิธี และทำอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการย้ำและปลูกฝัง ทั้งนี้การปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกให้แก่เด็กต้องคำนึงถึงวุฒิภาวะ ความสนใจและความต้องการของเด็กปฐมวัยด้วย
จากความหมายของสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาและแนวคิดพื้นฐานในการจัดสภาพแวดล้อมพอสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ว่า ในการจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัยเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้และส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กครบทุกด้าน สภาพแวดล้อมควรเป็นพัฒนาการให้เด็กครบทุกด้านนั้น นักการศึกษาและนักจิตวิทยาที่สำคัญหลายท่านเน้นความสำคัญของการเรียนรู้และพัฒนาได้นั้น สภาพแวดล้อมในสถานศึกษาที่จัดให้เด็กต้องยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง สภาพแวดล้อมที่จัดให้ประสบการณ์ตรงและจูงใจเด็กให้เด็กอยากเรียนรู้ เมื่อเด็กอยากเรียนรู้เด็กจะอยากมาสถานศึกษา นอกจากนั้นสิ่งที่สถานศึกษาขาดไม่ได้คือการจัดประสบการณ์ต่างๆ ให้เด็กเกิดความรู้สึกที่จะช่วยจัดสภาพแวดล้อม ดูแลสภาพแวดล้อมให้เป็นระเบียบสวยงาม ถนอมดูแลและใช้สื่อ วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องเล่นอย่างถูกวิธี และไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ตลอดจนดูแลรักษาไม่ให้ถูกทำลาย

ความสำคัญในการจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัย

ช่วงชีวิตในวัยปฐมวัย เป็นช่วงชีวิตที่มีความสำคัญมาก เด็กจะพัฒนาและเรียนรู้สิ่งต่างๆได้มากที่สุดในช่วงนี้ โดยเฉพาะเมื่อเด็กเข้ามาในสถานศึกษา เด็กจะได้รับการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ - จิตใจ สังคม และสติปัญญา จากการปฏิบัติกิจกรรมซึ่งครูเป็นผู้จัดให้ นอกจากกิจกรรมและประสบการณ์แล้วอีกสิ่งหนึ่งซึ่งครูและสถานศึกษาเป็นผู้จัดให้แก่เด็กคือ สภาพแวดล้อม การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีคุณค่า ทำให้เด็กได้ประสบการณ์ตรงเกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น จากสภาพแวดล้อมทางภายในและภายนอกห้องเรียน เด็กสามารถค้นคว้า ทดลอง สังเกต หาเหตุผลและขยายประสบการณ์ให้เด็กได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้เป็นแนวทางในการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กปฐมวัยส่วนหนึ่ง
การที่เด็กปฐมวัยจะเจริญเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีในสังคมประเทศชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูที่เด็กได้รับในวัยปฐมวัย การจัดสภาพแวดล้อมมีผลต่อการสร้างเสริมพัฒนาการของเด็กเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่สภาพแวดล้อมทางบ้านซึ่งมีพ่อแม่ ญาติ และผู้ใกล้ชิด คอยดูแลลำดับต่อมาเป็นสภาพแวดล้อมนอกบ้าน สภาพแวดล้อมนอกบ้านที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีความสำคัญต่อเด็กปฐมวัยมากคือ สภาพแวดล้อมในสถานศึกษา
ทัศนา แก้วพลอย (2544 : 198-199) กล่าวถึงความสำคัญของการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยว่า อาคารสถานที่และสภาพแวดล้อมต่างๆ ในสถานศึกษาปฐมวัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งมากไปกว่าตัวครูที่จะสร้างความเจริญงอกงามและพัฒนาการทุกด้านให้กับตัวเด็ก อีกทั้งยังมีอิทธิพลเหนือจิตใจและพฤติกรรมตลอกจนการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานให้แก่บุคลากรทุกคนในสถานศึกษา สภาพแวดล้อมในโรงเรียนปฐมวัยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ สภาพแวดล้อมส่วนที่เป็นบุคคล ได้แก่ ครู นักเรียน คนงานภารโรง ฯลฯ และสภาพแวดล้อมส่วนที่เป็นวัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ อาคารสถานที่ ห้องเรียน สื่อวัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์
บุญเยี่ยม จิตรคอน (2537: 330) ได้กล่าวถึง ความสำคัญของการจัดสภาพแวดล้อมสำหรับเด็กปฐมวัยว่า สภาพแสดล้อมมีอิทธิพลและความสำคัญแก่เด็กอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับเด็กปฐมวัยสถานที่ให้การศึกษาอบรมเด็กควรจัดเตรียมทั้งสภาพภายในและภายนอกห้องเรียน สิ่งของเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่างๆ ควรมีให้เพียงพอเหมาะสมกับวัยและความสนใจ มีการตกแต่งให้น่าดู จัดวางให้เด็กได้เลือกเล่นอย่างสนุกสนาน เลือกใช้และทดลองอย่างสะดวกสบาย ปลอดภัย สภาพแวดล้อมภายในสถานศึกษาจึงควรมีสภาพคล้ายคลึงบ้านของเด็กให้มากที่สุด เพื่อที่เด็กจะได้มีความอบอุ่น
ความสำคัญของการจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเด็ก ครู และบุคลากรอื่นๆ เป็นอย่างมาก ดังนั้นสถานศึกษาจำเป็นต้องจัดสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องต่อความต้องการของเด็กและบุคลากรตามที่เน้นให้เห็นความสำคัญ

จุดมุ่งหมายในการจักสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัย

สถานศึกษาปฐมวัยเป็นสถานศึกษาที่จัดสภาพแวดล้อมให้แก่เด็ก เล่น กิน นอนและอยู่กันอย่างมีความสุข มีความปลอดภัย และเกิดการเรียนรู้ การจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัยได้มีนักการศึกษาให้ข้อคิดเห็นไว้ดังต่อไปนี้
หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา (2523) ได้กล่าวถึงจุดประสงในการจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัยว่า เพื่อสร้างความอบอุ่นมั่นใจ สนใจมาโรงเรียนและอยากมาโรงเรียน
สำหรับเรื่องนี้สามารถสรุปได้ว่า จุดประสงค์ของการจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัยมี 6 ประการ ดังนี้
1. เพื่อเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา
2. เพื่อส่งเสริมสัมพันธ์ภาพระหว่างบ้านและสถานศึกษาปฐมวัย
3. เพื่อให้ความสะดวกแก่เด็กปฐมวัย ครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษาปฐมวัย
4. เพื่อช่วยผ่อนแรงและประหยัดเวลาแก่ครูในการจัดประสบการณ์ ให้แก่เด็กปฐมวัย
5. เพื่อสร้างบรรยากาศให้เด็กได้เกิดความอบอุ่น มั่นใจ สนใจ รักและอยากมา สถานศึกษา
6. เพื่อช่วยตกแต่งสถานศึกษาให้สวยงามทำให้สถานศึกษาน่าสนใจ
เบญจา แสงมลิ (2531) ได้แสดงให้เห็นวัตถุประสงค์ของการจัดสภาพแวดล้อมดังนี้
1. สร้างเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา
2. อำนวยความสะดวกให้แก่เด็กปฐมวัย ครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
3. สร้างความสวยงาม มีระเบียบ ดึงดูดความสนใจของเด็กปฐมวัยและผู้ปกครอง
4. สนองจุดมุ่งหมายของการศึกษาระดับปฐมวัย

บทที่ 2
การศึกษาสังเกตการณ์จัดสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกห้องเรียน
ในสถานฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพครู


การจัดสภาพแวดล้อมให้กับเด็กปฐมวัยมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยส่งเสริมพัฒนาการ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา หากจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจะเอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ซึ่งการจัดสภาพแวดล้อมให้กับเด็กปฐมวัยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดให้เหมาะสมสอดคล้องกับวัยและธรรมชาติของเด็กปฐมวัย

1. การจัดสภาพแวดล้อมภายในอาคาร
1.1 การจัดห้องต่างๆ ภายในโรงเรียน
1.1.1 ห้องเรียนควรมีขนาด 5 × 7 เมตร หรือขนาด 6 × 8 เมตร เนื้อที่ในห้องเรียนเฉลี่ยแล้วต้องมีเนื้อที่ 1 ตารางเมตร ต่อนักเรียน 1 คน ขนาดห้องเรียนแต่ละห้องต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 35 ตารางเมตร และห้องเรียนควรมีครบตามจำนานชั้นที่โรงเรียนจัด
11.2 ห้องเรียนควรมีแสงสว่างพอเพียงและแสงเข้าถูกทิศทาง มีอากาศถ่ายเทสะดวกโปร่งสบายโดยมีอากาศประมาณ 2.25 ลูกบาศก์เมตรต่อนักเรียน 1 คน รวมพื้นที่หน้าต่างประตูแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ห้อง
1.1.3 ความสูงของเพดานห้องเรียนต้องไม้น้อยกว่า 2.80 เมตร
1.1.4 หน้าต่างควรมีเพียงพอเพื่อให้แสงสว่าง และอากาศถ่ายเทได้สะดวกตามเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งควรมีเนื้อที่หน้าต่างและช่องแสงภายนอกไม่น้อยกว่าหนึ่งในแปดของพื้นที่ของห้องเรียนและขอบหน้าต่างควรมีความสูงให้เด็กสามารถมองเห็นข้างนอกห้องได้
1.1.5 พื้นห้องควรเป็นพื้นไม้ หรือวัสดุที่เด็กสามารถนั่งหรือนอนเล่นได้
1.1.6 ฝาผนังกั้นห้องเรียนความมีฝาผนังกั้นเป็นสัดส่วนและเรียบร้อย ควรทาสีอ่อนๆ เพื่อเพิ่มความสว่างและทำให้สวยงาม
จากการที่ผู้สังเกตได้ศึกษาสังเกตสภาพแวดล้อมภายในอาคารการจัดห้องเรียนภายในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พบว่าทางโรงเรียนได้แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ วัยบริบาล วัยอนุบาล ประถมศึกษาซึ่งห้องเรียนในวัยอนุบาลจะมีทั้งหมด 7 ห้องด้วยกัน ระดับชั้นอนุบาลมี 3 ระดับ คือ ระดับอนุบาล 1- 3 ระดับละ 2 ห้องเรียนและมีห้องบริบาลอีก 1 ห้อง หน้าห้องเรียนแต่ละห้องจะมีชั้นวางรองเท้าไว้ให้เด็ก และโต๊ะรับประทานอาหารอยู่หน้าห้อง มีห้องน้ำอยู่นอกห้องเรียน เป็นห้องน้ำใหญ่ห้องเดียว แต่จะแยกห้องออกเป็น ชาย หญิง วรี เกี๋ยสกุล (2547 : 214)
1.2 การจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน
พรรัก อินทามระ (2548) ได้กล่าวว่า การจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนให้กับเด็กปฐมวัย ควรคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้
1. การจัดวางวัสดุควร จัดวัสดุ อุปกรณ์ สื่อ เครื่องเล่น ครุภัณฑ์ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับวัยและพัฒนาการ เพื่อให้เด็กสามารถใช้หรือทำกิจกรรมได้สะดวกด้วยตนเอง โดย วัสดุ อุปกรณ์ สื่อ เครื่องเล่น และครุภัณฑ์ ที่จัดให้สำหรับเด็กปฐมวัยมีหลากหลาย เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ม้านั่ง กระดานขายของ บอร์ดติดผลงาน ตู้เก็บของ ที่แขวนถ้วย ที่แขวนผ้าเช็ดหน้า ที่เก็บเครื่องนอน ห้องน้ำ ห้องส้วม ที่ล้างมือ ประตู หน้าต่าง สื่อ เครื่องเล่น เป็นต้น
2. วัสดุ อุปกรณ์ สื่อ เครื่องเล่น ครุภัณฑ์ ควรให้มีขนาดเหมาะสมกับเด็กปฐมวัย
3. การจัดพื้นที่ในห้องเรียนควรจัดให้เหมาะสม เลือกที่ตั้งครุภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ และมุมประสบการณ์ โดยคำนึงถึง
- ทิศทางลมเหมาะสม และแสงสว่างเพียงพอต่อการทำกิจกรรม
- มีแสงแดดส่องเหมาะสม ไม่รบกวนสายตาเด็กขณะปฏิบัติกิจกรรม
- สร้างบรรยากาศให้ร่มรื่น
- ทุกจุดของห้องควรให้มองเห็นได้โดยรอบ
- จัดวาง/ตั้ง ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ ที่สะดวกต่อการปฏิบัติกิจกรรม
4. สภาพแวดล้อม
ในห้องควรมีความปลอดภัย โดย
- พื้นห้องควรโล่ง กว้าง มีบริเวณนุ่ม มีบริเวณที่ตั้งอุปกรณ์ สื่อ เครื่องเล่น
- ตรวจความเรียบร้อยของวัสดุ อุปกรณ์ สื่อและเครื่องเล่นหากชำรุดต้องรีบซ่อมแซมโดยเร็ว
- กำหนดขอบเขตของมุมประสบการณ์ให้เด็กรู้
- หน้าต่าง ครุภัณฑ์ต่างๆ ไม่ควรทำด้วยกระจก
- ดูแลบริเวณทั่วไปให้ปลอดภัยจากสัตว์ แมลง พืช และสารเคมีที่มีพิษ
- ครุภัณฑ์ โต๊ะ เก้าอี้ ไม่ควรเป็นมุมแหลมที่เป็นอันตราย
การจัดแสดงผลงานและการเก็บของ ควรคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้
- จัดให้มีที่แสดงผลงานเสนอภาพเขียน หรืองานหัตถกรรมเด็กๆ
- จัดที่แสดงให้น่าสนใจและสดชื่น
- ให้เด็กเห็นของแปลกๆ ใหม่ๆ ที่เด็กไม่เคยเห็น
- ส่งเสริมให้เด็กๆ รู้จักเลือกสรรว่าจะทำอะไร จัดแสดงอะไร ฯลฯ
- กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น
- สอนให้รู้จักจัดของเป็นกลุ่ม และเลือกของออกมาใช้ตามความต้องการ
- สร้างนิสัยในการเก็บของให้เป็นที่เป็นทาง

การจัดมุมเสริมทักษะ และการพัฒนาเด็ก (มุมประสบการณ์)
มุมเสริมทักษะและการพัฒนาการเด็กหรือมุมประสบการณ์ เป็นสถานที่จัดไว้ในห้องเรียนเพื่อให้เด็กได้เล่นสื่อและเครื่องเล่นประเภทต่างๆ โดยมุมเสริมทักษะและการพัฒนาการเด็ก (มุมประสบการณ์) จะมีสื่อและเครื่องเล่นจัดไว้ให้เด็กได้เล่น ซึ่งแต่ละมุมประสบการณ์จะมีลักษณะแตกต่างกัน ภายในห้องเรียนควรจัดมุมประสบการณ์ให้เด็กเล่นอย่างน้อย 5 มุมประสบการณ์ ทั้งนี้ ควรจัดมุมสงบกับมุมที่ส่งเสียงดัง ไว้ห่างกัน มุมที่เด็กต้องใช้สมาธิในการเล่นหรือทำกิจกรรมควรอยู่ใกล้กัน มุมที่เล่นแล้วทำให้เกิดเสียงดังก็ควรอยู่ใกล้กัน เช่น มุมหนังสือกับ มุมเกมการศึกษาอยู่ใกล้กันได้ มุมศิลปะกับมุมบล็อกอยู่ใกล้กัน เป็นต้น
มุมที่จัดให้เด็กได้เล่นมีดังต่อไปนี้
1. มุมบ้าน มุมร้านค้า มุมวัด มุมหมอ มุมเกษตรกร ฯลฯ
จัดเพื่อให้เด็กได้เล่นในสิ่งที่ตนชอบ เรียนรู้บทบาทหน้าที่ของบุคคลต่างๆ ในครอบครัว สังคม สิ่งที่จะได้ควบคู่กันมา คือ การใช้ภาษา การปรับตัวให้เข้ากับเพื่อน การพัฒนาทางอารมณ์ สังคม และสติปัญญา
สื่ออุปกรณ์ที่จัดในมุมนี้ ได้แก่ เครื่องครัว เครื่องใช้ในบ้าน เช่น เสื่อ หมอน กระจก ตุ๊กตา เสื้อผ้าตุ๊กตา เครื่องแบบของคนอาชีพต่างๆ เช่น หมอ ตำรวจ ทหาร เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น กระบุง ตะกร้า ไม้คาน เครื่องมือจับปลา รองเท้า และเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว สำหรับเด็กแสดงบทบาทสมมติ อุปกรณ์เหล่านี้ควรทำชั้นวางหรือจัดวางไว้ในลังไม้ ลังกระดาษ แยกเป็นหมวดหมู่ ไม่ควรใช้ของที่ทำด้วยแก้ว กระเบื้องหรือพลาสติกที่ใช้เป็นอันตรายกับเด็ก
2. มุมหนังสือ
แม้จะไม่มีการสอนอ่านเขียน สำหรับเด็กระดับปฐมวัยแต่การหาภาพสวยๆ นิทานภาพมาจัดวางไว้ย่อมเป็นสิ่งจูงใจให้แก่เด็กได้มาจับต้องเปิดดู เป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านไปโดยไม่รู้ตัว สิ่งประกอบสำหรับมุมนี้คือ เสื่อ หมอน รูปทรงต่างๆ จะช่วยจูงใจให้เด็กอยากนั่งนอนอ่านในท่วงท่าสบายๆ ก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน ทั้งที่อ่านไม่ได้แต่ก็จะสนุกสนานเพลิดเพลินกับรูปสวยๆ เหล่านั้น
3. มุมธรรมชาติศึกษาหรือมุมวิทยาศาสตร์
เป็นมุมที่เด็กจะศึกษาหาความรู้ด้วยการสังเกตทดลองด้วยตนเอง จึงต้องจัดหาอุปกรณ์ เช่น เครื่องชั่ง ตัวอย่างพืช เปลือกหอย สำลี กระดาษ หินชนิดต่างๆ ฯลฯ นำมาจัดวางไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้เด็กค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง
4. มุมบล็อก บล็อก หมายถึง แท่งไม้หรือวัสดุทดแทนอย่างอื่น เช่น กล่องชนิดต่างๆ บล็อกแต่ละชุดอาจมีแบบและจำนวนแตกต่างกัน บางชุดมีขนาดเล็ก มีจำนวนเพียง 20 ชิ้นบางชุดก็มีขนาดใหญ่ จำนวนอาจมากถึงกว่า ร้อยชิ้น บล็อกเหล่านี้อาจทำขึ้นเองได้จากเศษไม้นำมาตกแต่งให้เป็นรูปทรง ข้อควรระวังคือต้องขัดให้เรียบร้อย ไม่มีเสี้ยนแยกเก็บใส่กล่องหรือลังไว้ ถ้าไม่ต้องการเกิดเสียงรบกวนเวลาเล่นก็หาเสื่อปูรองรับมุมนี้ไว้ พอที่เด็กจะนั่งเล่นได้คราวละ 3-4 คน และควรให้ห่างจากมุมหนังสือที่ต้องการความสงบเงียบ
5. มุมเกมการศึกษา พลาสติกสร้างสรรค์ เครื่องเล่นสัมผัส ในมุมนี้เป็นมุมที่ฝึกเด็กในเรื่องการรับรู้ทางสายตา การคิดหาเหตุผล และการทำงานสัมพันธ์ระหว่างตาและมือ ประกอบไปด้วยเกมการศึกษา พลาสติกสร้างสรรค์ กล่องหยอดบล็อก ลูกปัด สำหรับร้อยอาจมีแบบร้อยไว้ให้เด็กด้วย
6. มุมเครื่องเล่นสัมผัส มุมนี้เป็นมุมที่ฝึกเด็กในเรื่องการรับรู้ทางสายตา การสังเกต การเปรียบเทียบ การจัดหมวดหมู่ ภาษา การคิดหาเหตุผล ความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานสัมพันธ์ระหว่างตาและมือ ประกอบไปด้วยสื่อ เครื่องเล่นต่างๆ เช่น พลาสติกสร้างสรรค์ กล่องหยอดบล็อก ลูกปัดสำหรับร้อย ฯลฯ
7. กระบะทราย กระบะทรายในมุมห้องเรียน จัดไว้เพื่อให้เด็กมีโอกาสตกแต่งกระบะทรายเกี่ยวกับเรื่องที่ใกล้ตัวเด็ก เช่น เรื่องบ้านจัดแบ่งเป็นส่วน ส่วนที่เป็นบ้าน ต้นไม้ รั้ว คน สัตว์เลี้ยง จึงต้องจัดหาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องไว้ ควรวางกระบะให้อยู่ในระดับที่เด็กจะยืนเล่นได้ และเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้ เช่น ถ้วยตวง ขวด ช้อน ตัวสัตว์พลาสติก ต้นไม้จำลอง ฯลฯ เพื่อให้เด็กนำมาจัดตามความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง
เยาวภา เดชะคุปต์ (2542: 129) กล่าวถึง การจัดอาคารสถานที่และห้องเรียนสำหรับเด็กปฐมวัยไว้ว่าจะต้องประกอบไปด้วย
1.อุปกรณ์สำหรับพักผ่อน อุปกรณ์ในการพักผ่อนเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเด็กที่มาโรงเรียนตลอดวัน อุปกรณ์ในการพักผ่อนได้แก่ ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ในการจัดอาคารหรือสถานที่ควรมีเนื้อที่เหมาะสมสำหรับเด็กได้นอนพักผ่อน ไม่ควรสว่างมากจนเกินไป นอกจากนี้ครูควรเปิดเพลงเบาๆ ให้เด็กฟังขณะที่นอนพัก เนื้อที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กนอนพักผ่อนควรมีขนาดดังนี้
27 × 48 นิ้ว สำหรับเด็กอายุระหว่าง 4 – 5 ปี , 27 × 52 นิ้ว สำหรับเด็กอายุระหว่าง 4-6 ปีและ 27 × 54 นิ้ว สำหรับเด็กอายุระหว่าง 4 – 7 ปี บางโรงเรียนที่เด็กมาโรงเรียนแค่ครึ่งวันครูอาจจะใช้พรมปูให้เด็กนอนพักผ่อนในช่วงกลางวันได้
2.ตู้เก็บของและตู้ช่อง ตู้ช่องควรเป็นสิ่งที่เตรียมเอาไว้ให้เด็กทุกคนเพื่อช่วยให้เด็กรู้จักเก็บของเข้าที่ แต่เด็กแต่ละคนควรมีที่เก็บของใช้ส่วนตัว ตู้ช่องอาจจะทำให้ได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการใช้ ตู้ช่องที่ให้เด็กเก็บของใช้ควรมีขนาดความสูง 35 นิ้ว ยาว 10-12 นิ้ว และลึกประมาณ 10-15 นิ้ว ควรมีตะขอเกี่ยวสำหรับแขวนเสื้อ มีชั้นยาวประมาณ 7 นิ้ว และมีที่วางรองเท้า ตู้ช่องควรอยู่ในด้านประตูทางเข้าออกเพราะถ้าอยู่ไกลจากประตูเด็กมักจะลืมสิ่งของของตนเอง นอกจากนี้เด็กแต่ละคนควรมีกล่องหรือกระเป๋าสำหรับใส่ของส่วนตัว ทั้งที่ตู้ช่องและกระเป๋าควรมีชื่อเด็กและสัญลักษณ์เฉพาะตัวของเด็กแต่ละคนไว้ข้างๆ เพื่อให้เด็กจำชื่อของตนเอง
3.ห้องน้ำ อ่างล้างมือ และอุปกรณ์ทำความสะอาด อ่างล้างมือเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำความสะอาดของเด็กภายหลังจากการทำกิจกรรมต่างๆ ห้องน้ำและอุปกรณ์ในการล้างมือควรจัดไว้ในห้องและนอกห้อง ห้องน้ำจะมีทั้งห้องน้ำเด็กหญิงและเด็กชายหรือสำหรับใช้ด้วยกันภายในห้องเรียนควรมีหน้าต่างและพัดลมสำหรับระบายอากาศ ประตูห้องน้ำควรทำจากเซรามิคหรืออุปกรณ์ที่ทำความสะอาดง่ายๆ สัดส่วนของห้องน้ำควรมีขนาดที่เหมาะสม โถส้วมและอ้างล้างมือควรมีขนาดที่เหมาะสมสำหรับเด็ก อ้างล้างมือควรอยู่ใกล้ประตูทางออกเพราะเมื่อเด็กเข้าห้องน้ำเสร็จแล้วจะได้ล้างมือ ที่ดื่มน้ำสำหรับเด็กควรจัดตู้น้ำเย็นหรือใส่น้ำดื่มเอาไว้ให้ในและนอกห้องเรียน โดยควรมีขนาดสูงพอที่เด็กจะกดดื่มได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ควรเตรียมแก้วน้ำเฉพาะตัวเด็กแต่ละคนเอาไว้ได้
4.ระบบเสียง เป็นสิ่งที่มีผลต่อเราทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้นโรงเรียนสำหรับเด็กควรจัดระบบเสียงให้เหมะสม การเรียนการสอนภายในห้องเรียนจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพถ้ามีเสียงรบกวนจากภายนอกที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาในห้องเรียน เพื่อที่จะช่วยลดเสียงต่างๆที่ไม่พึงประสงค์ควรใช้พรมหรือวัสดุต่างๆ กรุตามผนัง พื้นห้องหรือเพดาน อาจจะช่วยให้ระบบเสียงดีขึ้น การใช้พรมนอกจากจะช่วยให้ระบบเสียงดีขึ้นแล้วยังสามารถช่วยทำให้ห้องน้ำน่าดูขึ้นหรือจะใช้เป็นที่จัดกิจกรรมต่างๆได้
5.ผนังห้อง ฝาผนังเป็นเนื้อที่ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆได้ ฝาผนังห้องควรทำจากวัสดุที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย และควรทำจากวัสดุที่อ่อนที่เสียงผ่านได้น้อยและสามารถใช้เป็นที่ติดผลงานเด็ก ผนังห้องเรียนควรมีขนาดสูงไม่มากนักและควรมีการทาสีให้แสงสว่างแก่ห้อง ห้องที่ทาสีต่างๆ จะทำให้เกิดความสวยงามและให้ความรู้สึกที่ท้าทายแก่เด็กและทำให้ดูมีเนื้อที่กว้าง นอกจากนี้ยังให้ความรู้สึกสบายๆเท่ากับท้าทายให้เด็กอยากมาโรงเรียน แต่ไม่ควรเป็นสีที่กระตุ้นเด็กมากจนเกินไปและยังควรเลือกใช้อุปกรณ์ของเล่นเป็นสีหลักๆ ที่เด็กชอบจะช่วยให้ห้องเรียนมีชีวิตชีวาอีกด้วย
6.พื้นห้อง พื้นห้องเรียนสำหรับเด็กปฐมวัยควรสะอาดใช้วัสดุที่เรียนและทำความสะอาดได้ง่ายและไม่ทำให้เกิดริ้วรอยขีดข่วนเมื่อโดนของหนัก ทั้งนี้เพราะกิจกรรมของเด็กปฐมวัยส่วนใหญ่จะทำอยู่บนพ้นห้อง ดังนั้นพื้นจึงไม่ควรมีสิ่งกีดขวางและจะทำให้เด็กสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ พื้นห้องที่ดีควรทำจากไม้ อลูมิเนียมหรือพื้นยาง ส่วนบริเวณสำหรับที่รับประทานอาหารและห้องเรียนซึ่งอาจจะใช้บริเวณเดียวกันเป็นบริเวณที่ทำความสะอาดได้ง่าย โต๊ะและเก้าอี้ควรเคลื่อนย้ายได้สะดวก การเตรียมอาหารและบริเวณที่ตักอาหารควรมีขนาดมาตรฐานและสะอาดถูกต้องตามหลักอนามัย
7.หน้าต่างและประตู ประตูทางเข้า-ออกและหน้าต่างเป็นสิ่งที่สำคัญประการหนึ่งของการจัดสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ดังนั้นบริเวณที่จะเป็นประตูและหน้าต่างควรได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน หน้าต่างควรมีระดับต่ำพอที่เด็กจะมองออกไปข้างนอกห้องได้ นอกจากนี้ยังมีผ้าม่าน ม่านบังตาหรือบานเกร็ด ทั้งนี้เพื่อป้องกันแสงสว่างที่อาจจะจ้าเกินไป ส่วนหลังคาควรมีช่วงยาวพอเหมาะที่จะให้เด็กเกิดร่มเงาที่เหมาะสม หน้าต่างควรมีขนาดเหมาะสมกับผ้าม่านหรือม่านบังตา บริเวณที่รับประทานอาหารควรใช้หน้าต่างที่เป็นบานเกร็ด หน้าต่างที่เปิดออกไปแล้วพบแต่กำแพงอิฐหรือบริเวณที่ไม่มีอะไรให้ดู ควรจัดให้บริเวณที่วางของไว้โชว์จะดีกว่า ประตูควรมีที่ล็อคได้ในตัวและประตูไม่ควรมีบานบังตาที่จะตีกลับมาโดนตัวเด็ก
8.ระบบการระบายอากาศ แสงสว่างและความร้อน ระบบการระบายอากาศที่ดีที่สุดคือการเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท แต่บางครั้งสภาพอากาศก็ไม่อำนวยให้ทำให้หน้าต่างจึงควรสามารถปรับให้ปิด-เปิดได้ด้วยตัวเด็ก ถ้าอากาศร้อนเกินไปควรมีพัดลมเพดานเพื่อที่จะช่วยระบายอากาศ ไฟฟ้าควรมีขนาดสูงจากพื้นและควรมีโป๊ะไฟเพื่อไม่ให้เคืองตา สวิตซ์ไฟฟ้าควรอยู่ระดับที่เด็กเอื้อมไม่ถึง แสงสว่างในห้องไม่ควรจ้าจนเกินไปเพราะจะทำให้เกิดการเคืองตา บริเวณที่มืดควรทาสีสว่างเพื่อช่วยให้บริเวณนั้นดูสว่างขึ้น
9. เครื่องเรือนหรือโต๊ะเก้าอี้
9.1 โต๊ะเก้าอี้ควรสามารถโยกย้ายได้และควรมีขนาดพอเหมาะกับตัวเด็ก มีความสะดวกในการทำความสะอาดและใช้งานได้ง่าย
9.2 โต๊ะควรมีความสูงแตกต่างไปตามอายุของเด็กตั้งแต่ 12 -22 นิ้ว โต๊ะที่มีรูปร่างต่างๆจะใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างและสามารถเคลื่อนย้ายได้
9.3 เก้าอี้ควรมีขนาดพอเหมาะกับเด็กและเบาพอที่เด็กจะยกและเคลื่อนย้ายได้โดยไม่เกิดเสียง เก้าอี้ควรมีขนาดสูงตั้งแต่ 14 -20 นิ้ว
9.4 เวทีเล็กๆสำหรับให้เด็กแสดงละครหรือบทบาทสมมติ ควรมีขนาดกว้าง 3 ฟุต 6 นิ้ว ยาว 5 ฟุต และสูง 1 ฟุตจากพื้น เพื่อให้สะดวกต่อการทำความสะอาด
9.5 นาฬิกาควรมีติดเอาไว้ข้างฝาผนังโดยมีเข็มสีดำบนหน้าปัดเบญจา แสงมะลิ (2539: 236) ได้เสนอแนะการจัดสภาพห้องเรียนไว้ 2 แบบ ดังนี้ คือ ห้องเรียนปกติ ห้องเรียนเอนกประสงค์ ห้องเรียนปกติ สถานศึกษาเด็กปฐมวัยที่มีห้องต่าง ๆ เพียงพอ สามารถจัดห้องนอนเด็กและห้องรับประทานอาหารแยกออกจากห้องเรียนปกติได้ ห้องเรียนเด็กปฐมวัยใช้เป็นที่สำหรับเล่นเรียนและทำงานของเด็ก และเป็นห้องที่กว้างขวางพอสำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ โต๊ะ เก้าอี้ ของเด็กตั้งเป็นหมู่อยู่ส่วนหนึ่งของห้อง เนื้อที่ส่วนที่เหลือใช้สำหรับเล่น เรียนและกิจกรรมอย่างอื่นฝาด้านหนึ่งมีกระดานดำยาวตลอดฝา ควรจัดให้มีมุมตุ๊กตาและเครื่องเล่น มุมธรรมชาติศึกษา มุมศิลปะ เพื่อเด็กจะได้เล่นเอง หรือเล่นด้วยการแนะนำของครู ข้างฝามีภาพที่เหมาะสมกับเด็กแจกันดอกไม้ตั้งในที่ซึ่งเห็นสมควร ตู้และชั้นที่เก็บเครื่องใช้ของเด็กต้องไม่สูงและลึก เด็กจะได้หยิบของใช้ได้เองและดูแลจัดเก็บให้เรียบร้อยด้วยตนเอง ตู้ทึบสูงสำหรับครูเก็บเครื่องใช้ แบ่งส่วนสำหรับเก็บ ไม้กวาด ถังเล็ก และผ้าเช็ดถู ชั้นหรือโต๊ะเล็กสำหรับวางกาหรือเหยือกน้ำและถ้วย ถังผงใบเล็ก กระบะทราย สิ่งเหล่านี้ควรจะมีอยู่ในห้องด้วย
จากการสังเกตสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนพบว่า หน้าต่างอยู่ในระดับสายตาของเด็ก พื้นห้องจะปูด้วยกระเบื้องที่มีสีขาว ภายในห้องมีมุมอยู่ 7 มุมอยู่ด้านข้างของห้อง ซึ่งประกอบไปด้วยมุมบทบาทสมมติ มุมดนตรี มุมบล็อก มุมอ่าน มุมวิทยาศาสตร์ มุมศิลปะและมุมเกมการศึกษา ส่วนพื้นที่ตรงกลางห้องเรียนจัดไว้เพื่อสำหรับให้เด็กได้ทำกิจกรรมต่างๆ มีกระดานซึ่งกระดานนั้นจัดตั้งอยู่หน้าห้องเรียนและมีการตั้งไว้ให้อยู่ในระดับสายตาของเด็ก มีโต๊ะและเก้าอี้ขนาดเล็กสำหรับครูส่วนโต๊ะของเด็กไม่มี เวลาที่ทำการเรียนการสอนครูจะให้เด็กนั่งพื้นเป็นส่วนมาก ภายในห้องเรียนจะมีที่แขวนผลงานของเด็กและมีกล่องเก็บผลงานของเด็กแต่ละคน เพื่อที่ครูและผู้ปกครองจะได้ดูพัฒนาการของเด็ก มีที่แขวนชุดนอนของเด็กซึ่งเอาไว้ให้เด็กเปลี่ยนชุดเวลาที่จะนอนในแต่ละวัน ส่วนแก้วน้ำและแปรงสีฟันจะนำไปไว้หน้าห้องเรียนเพื่อความสะดวกสบายขณะที่เด็กทำภารกิจเรียบร้อยแล้ว เช่น การแปรงฟัน ดื่มน้ำและดื่มนม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีชั้นวางของขนาดใหญ่ซึ่งอยู่หลังห้อง ซึ่งชั้นวางนั้นจะเป็นที่ที่ไว้สำหรับเก็บที่นอน วางแฟ้มสะสมผลงานของเด็ก วางสื่อเช่น โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องเล่น CD และวางกล่องสื่อซึ่งแยกตามหน่วยการสอนต่างๆ ภายในห้องเรียนก็จะมีไม้กวาด ไม้ถู ถังขยะและที่ตักเศษผงไว้มุมหลังห้อง ส่วนประตูทางเข้าและทางออกจะเป็นประตูซึ่งทำด้วยกระจก

1.3 ความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน
จากการที่ผู้สังเกตได้ออกไปสังเกตความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนเด็กอนุบาล พบว่าภายในห้องเรียนไม่ได้ปูพื้นด้วยแผ่นยาง หรือไม้ หรืออลูมิเนียม เนื่องจากภายในห้องเรียนจะเป็นพื้นปูนซึ่งไม่เหมาะสมกับเด็ก เพราะเด็กในวัยนี้เป็นวัยที่ไม่ชอบอยู่นิ่งเฉย เด็กจะต้องวิ่งเล่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งพื้นที่ปูด้วยกระเบื้องนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเด็กได้ ส่วนประตูทางเข้าทางออกไม่มีความสะดวกมากนักเนื่องจากเปิดยาก เพราะเป็นกระจกดังนั้นครูจึงเป็นคนเปิด-ปิดประตูให้กับเด็ก สำหรับเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ภายในห้องไม่แหลมคม ที่เสียบปลั๊กไฟมีการจัดไว้ให้อยู่สูงพ้นมือเด็ก สภาพภายในห้องเรียนมีความสะอาด บริเวณภายในเรียนมีแสงสว่างเพียงพอที่เหมาะสมแก่การเรียนหนังสือสำหรับเด็ก ภายในห้องเรียนมรการติดตั้งเครื่องปรับอากาศทุกห้อง เด็กจะอยู่ในห้องปรับอากาศทั้งวันซึ่งถ้าเด็กบางคนไม่สบาย อาจทำให้เด็กได้รับเชื้อโรคหรือแพร่กระจายเชื้อโรคติดต่อสู่ผู้อื่นได้ง่าย

1.4 สะท้อนภาพถ่าย

ภาพที่ 1.4.1 พื้นที่สำหรับทำกิจกรรมในห้องเรียน

ที่มา : พื้นที่สำหรับทำกิจกรรมในห้องเรียน ชั้นอนุบาล 2 / 1
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์

ผู้ถ่ายภาพ : นางอลิศรา คิดชอบ นักศึกษาโปรแกรมการศึกษาปฐมวัยชั้นปีที่ 3
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์

กิจกรรม : ภายในห้องเรียนอนุบาลมีการปูพื้นด้วยกระเบื้องสีขาว มีพื้นที่ตรงกลางห้อง จัดไว้สำหรับให้เด็กได้ทำกิจกรรมต่างๆ หน้าห้องเรียนมีกระดาน มีโต๊ะครูและแผ่นเลือกมุม ภายในห้องมีการจัดมุมประสบการณ์ 7 มุม คือ มุมบทบาทสมมติ มุมดนตรี มุมบล็อก มุมอ่าน มุมวิทยาศาสตร์ มุมศิลปะและมุมเกมการศึกษา


ภาพที่ 1.4.2 ตู้และชั้นวางของภายในห้องเรียน

ที่มา : ตู้และชั้นวางของภายในห้องเรียน ชั้นอนุบาล 2 / 2
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์


ผู้ถ่ายภาพ : นางอลิศรา คิดชอบ นักศึกษาโปรแกรมการศึกษาปฐมวัยชั้นปีที่ 3
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์
กิจกรรม : ภายในห้องเรียนอนุบาลทุกห้องจะมีตู้และชั้นวางของ เพื่อจัดวางสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ตู้และชั้นวางของจะอยู่ติดผนังทางด้านหลังของห้อง ภายในตู้ชั้นล่างจะเป็นชั้นที่ไว้สำหรับเก็บที่นอนเด็ก ชั้นกลางจะจัดไว้วางทีวี เครื่องเล่นซีดี มีตะขอสำหรับแขวนกระเป๋า และผ้ากันเปื้อนตามสัญลักษณ์และชื่อของเด็ก ส่วนชั้นบนมีไว้สำหรับเก็บกล่องสื่อการเรียนการสอนในแต่ละหน่วย



ภาพที่ 1.4.3 มุมบล็อก


ที่มา : มุมบล็อก ชั้นอนุบาล 2 / 2
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์

ผู้ถ่ายภาพ : นางอลิศรา คิดชอบ นักศึกษาโปรแกรมการศึกษาปฐมวัยชั้นปีที่ 3
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์

กิจกรรม : บริเวณภายในห้องเรียนมีการจัดมุมประสบการณ์ไว้ทั้งหมด 7 มุม มุมบล็อกก็เป็นหนึ่งในมุมประสบการณ์ที่อยู่ภายในห้องเรียน พื้นที่สำหรับมุมบล็อกก็จะมีชั้นวางบล็อกไว้สำหรับวางบล็อกแต่ละประเภท ส่วนพื้นที่ไว้สำหรับการเล่นบล็อกก็จะมีการปูด้วยแผ่นจิ๊กซอโฟมเพื่อเป็นการป้องกันเสียงจากบล็อกที่กระแทกกับพื้น


2. สภาพแวดล้อมภายนอกอาคารเรียน
การจัดสภาพแวดล้อมภายนอกอาคารเรียน Brewer ( 1995 ) กล่าวว่า บริเวณพื้นที่ภายนอกควรมีรั้วที่มั่นคง มีพื้นที่ในร่มสำหรับทำกิจกรรมในเวลาฝนตกหรือแดดร้อน พื้นควรประกอบด้วย พื้นผิวหลายแบบ และมีเครื่องเล่นเพื่อให้เด็กพัฒนาร่างกาย นอกจากพื้น ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ หรือวัสดุต่าง ๆ ให้เด็กได้ก่อสร้างเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ มีที่ว่างให้เด็กได้ขุดดินมีกระบะทราย และอุปกรณ์ทำสวน นอกจากนี้ยังสามารถจัดกิจกรรมการวาดรูป ระบายสีด้วยสีน้ำ โดยจะต้องเตรียมโต๊ะ พู่กัน กระดาษ และสีไว้ด้วย
2.1 การจัดบริเวณและเนื้อที่
สมร ทองดี (2547:91) กล่าวว่า สภาพแวดล้อมที่เป็นสถานที่ สถานศึกษาปฐมวัยควรมีลักษณะดังนี้
2.1.1. ที่ตั้งโรงเรียน
2.1.1.1 ที่ตั้งของโรงเรียนต้องไม่ไกลจากชุมชนมากเกินไป การไปมาสะดวก
2.1.1.2 มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่อยู่ใกล้แหล่งเสื่อมโทรม ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น หรือควันรบกวน ทั้งอยู่ไกลจากแหล่งอันตรายต่าง ๆ
2.1.1.3 สภาพพื้นที่เหมาะสมสำหรับทำการก่อสร้างโรงเรียน ที่ดินจะต้องไม่มีหลุมบ่อหรือเอียงลาดชันมาก จนทำการก่อสร้างยาก ชนิดของดินจะต้องมีคุณสมบัติดูดซึมและระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ท่วมปลูกต้นไม้ง่าย
2.1.1.4 ควรมีสายเมนไฟฟ้า ประปา และท่อระบายน้ำผ่านใกล้เคียง
2.1.2. บริเวณ
2.1.2.1 โรงเรียนอนุบาลควรมีเนื้อที่กว้างพอสมควร โดยยึดหลักนักเรียน 1 คน ต่อเนื้อที่ 10 ตารางเมตร
2.1.2.2 โรงเรียนอนุบาลควรมีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 8 ไร่
2.1.2.3 เด็กวัยนี้ไม่ชอบอยู่นิ่ง ชอบเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โรงเรียนจึงควรมีสนามสำหรับไห้เด็กวิ่งเล่น และจัดกิจกรรมของโรงเรียน โดยถือเกณฑ์เฉลี่ยนักเรียน 1 คน ต่อเนื้อที่สนาม 1 ตารางเมตร พื้นที่สนามราบเรียบไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ ปราศจากสิ่งอันก่อให้เกิดอันตรายแก่เด็ก
2.1.2.4 บริเวณโรงเรียนอนุบาลควรจัดตกแต่งให้มีลักษณะร่มรื่น สวยงามมีดอกไม้ประดับและไม้ที่ให้ร่มเงา บริเวณนี้มิได้เป็นสนามซึ่งสูงต่ำตามลักษณะธรรมชาติอยู่แล้ว ควรปรับพื้นผิวให้ราบเรียบแต่ปล่อยสูงต่ำและเนินธรรมชาติไว้ ควรจะมุ่งสำหรับนั่งเล่น หรือพักผ่อนบรรยากาศในโรงเรียนควรมีลักษณะคล้ายบ้าน

2.1.3. สนาม โรงเรียนอนุบาล ควรมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 3 ไร่ การจัดสนามควรแบ่งเนื้อที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ
2.1.3.1 บริเวณที่มีการปูพื้น เช่น ปูแผ่นคอนกรีต ปูอิฐ ฯลฯ ควรมีเนื้อที่ประมาณ 200 ตรารางวา
2.1.3.2 บริเวณที่ติดตั้งอุปกรณ์ของเด็ก ควรมีเนื้อที่ประมาณ 200 ตรารางวา
2.1.3.3 บริเวณที่เป็นสนามหญ้า สำหรับเด็กเล่น และจัดกิจกรรมกลางแจ้งควรมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 2 ไร่
2.1.3.4 บริเวณโรงเรียนมีความสะอาดเรียบร้อยมีทางระบายน้ำทิ้งและกำจัดขยะ
2.1.3.5 เด็กอนุบาลเป็นเด็กเล็ก ต้องมีการควบคุมดูแลโดยใกล้ชิด ดังนั้นโรงเรียนอนุบาลจึงควรมีรั้วกั้นเป็นขอบเขตแน่นอน เพื่อความสะดวกในดารดูแลเด็ดและทรัพย์สินของโรงเรียน
จากการที่ผู้ศึกษาได้ไปศึกษาสังเกตการจัดบริเวณและเนื้อที่ในโรงเรียนสาธิตนั้น ที่ตั้งของโรงเรียนไม่ได้อยู่ไกลจากชุมชน เส้นทางการเดินทางไปมาสะดวก ไม่อยู่ใกล้แหล่งเสื่อมโทรม ไม่มีเสียงรบกวนจากเสียงรถยนต์ แต่มีเนื้อที่ค่อนข้างแคบเพราะมีพื้นที่ขนาดจำกัด ทางโรงเรียนมีอาคารทั้งหมด 4 อาคาร อาคารด้านหลังสุดนั้นของโรงเรียนจะเป็นอาคารของชั้นอนุบาล มีทั้งหมด 7 ห้อง บริเวณของแต่ละห้องเป็นพื้นคอนกรีตที่ปูด้วยกระเบื้อง ส่วนหน้าห้องของแต่ละห้องจะมีที่แขวนแก้ว แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดมือ อ่างล้างมือ โต๊ะรับประทานอาหาร และชั้นวางรองเท้า โต๊ะรับประทานอาหารจะใช้ร่วมกันทั้งอนุบาลและประถมศึกษาปีที่ 1 เนื่องจากว่าทางโรงเรียนมีพื้นที่จำกัดจึงจะต้องมีการกำหนดให้เด็กประถมและเด็กอนุบาลใช้ร่วมกัน ส่วนสนามเด็กเล่นจะอยู่ติดกับห้องอนุบาล 3/1 มีเครื่องเล่นสนามขนาดใหญ่และมีสีสันชวนให้เด็กเกิดความสนใจอยากที่จะเล่น พื้นของสนามเด็กเล่นจะปูด้วยแผ่นยางเพื่อที่จะป้องกันอันตรายให้แก่เด็กเมื่อหกล้มหรือเล่นเครื่องเล่นอยู่ บริเวณรอบๆเครื่องเล่นสนามก็มีต้นไม้ใหญ่ที่คอยให้ร่มเงา ส่วนมีพื้นที่ที่เป็นสนามเอาไว้ให้เด็กทำกิจกรรม พื้นสนามจะเป็นพื้นคอนกรีต ไม่มีหญ้า ไม่ได้ปูด้วยแผ่นยาง เมื่อเด็กหกล้มอาจจะเป็นอันตรายต่อเด็กได้และสนามนี้จะใช้รวมกันทั้งอนุบาลและประถม และเป็นพื้นที่ที่สำหรับเอาไว้เคารพธงชาติ ในแต่ละจุดของโรงเรียนก็จะมีถังขยะเอาไว้ให้เด็กทิ้งขยะเพื่อความสะอาดของโรงเรียน

2.2 การตกแต่งบริเวณและเนื้อที่
จากการสังเกตได้สังเกตการตกแต่งบริเวณและเนื้อที่ของโรงเรียน พบว่าภายในบริเวณโรงเรียนไม่ค่อยมีต้นไม้ ไม่มีการจัดสวนหย่อม ส่วนบริเวณด้านหน้าห้องเรียนจะมีบอร์ดเพื่อจัดแสดงผลงานของเด็กและให้ความรู้ในเรื่องต่างๆเช่น วันสำคัญต่างๆ วันขึ้นปีใหม่ ส่วนบริเวณรอบๆห้องเรียนอนุบาลก็จะมีต้นไม้ใหญ่ความให้ความร่มเงาในสนามเด็กเล่นและบริเวณบ่อทราย
2.3 สนามเด็กเล่น
เยาวภา เดชะคุปต์ (2542:26) กล่าวถึง การจัดสภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียนว่า
การเล่นกลางแจ้ง (Outdoor Play)
การเล่นนอกห้องเรียน หรือการเล่นกลางแจ้งช่วยให้เด็กพัฒนาร่างกาย เป็นคนแข็งแรง มีสุขภาพที่ว่องไว และมีจินตนาการดี บรรยากาศนอกห้องเรียนจะให้โอกาสเด็กได้ทำกิจกรรมที่พัฒนาด้านและร่างกาย การสำรวจ การค้นพบ และการเกิดการเรียนรู้ การทำ กิจกรรมนอกห้องเรียนอาจไม่ใช่การวิ่ง การปีนป่าน เครื่องเล่นสนามเท่านั้น แต่ครูอาจจะให้เด็กวาดภาพ ปั้นดินเหนียว หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ กล่องและลังกระดาษเป็นอุปกรณ์ง่าย ๆ ที่สามารถจัดไว้นอกห้องเพื่อโอกาสเด็กได้สร้างจินตนาการ หรือสร้างสรรค์ดินแดนที่เขาคิดขึ้นในจินตนาได้เอง
เนื้อที่กลางแจ้ง เนื้อที่กลางแจ้งและอุปกรณ์ควรจัดให้แก่เด็กควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เกิดประสบการณ์หลากหลาย ถ้าห้องเรียนกับสนามเด็กเล่นอยู่ติดกับอุปกรณ์ที่จัดไว้แก่เด็กเล่นได้ทั้งในห้องและนอกห้องเรียน บริเวณสนามเด็กเล่น ควรมีขนาด 7.5 ถึง 100 ตารางฟุตต่อเด็ก 1 คน เป็นอย่างน้อย ถ้าเด็กหลายกลุ่มมาใช้สนามเด็กเล่น และมีเนื้อที่จำกัด ควรจัดตารางเวลาให้เด็กแต่ละกลุ่มหมุนเวียนกันมาเล่น สนามเด็กเล่นควรติดอยู่กับห้องนั่งเล่นและควรอยู่ชิดมุมใดมุมหนึ่งของอาคารเพื่อให้ครูสามารถดูแลได้ทั่วถึง บริเวณสนามเด็กเล่นได้หลายอย่าง สามารถทำความสะอาดได้ง่าย สามารถฉีดน้ำและแห้งได้รวดเร็ว และปลอดภัยจากไฟไหม้พื้นผิวของสนามไม่ควรใช้พื้นแข็งเพราะถ้าเด็กหกล้มบาดเจ็บได้ สนามเล่นดังกล่าวควรมีร่มเงา โดยปลูกต้นไม้เพื่อคลุมร่มเงา แสงสว่าง และเสียง สนามเด็กเล่นควรมีความเป็นสัดส่วน โดยควรมีกำแพงหรือฉากกั้นเพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย และครูควรดูแลอย่างใกล้ชิดขณะที่เด็กเล่น แต่ไม่ควรรบกวนขณะที่เด็กเล่นอย่างอิสระ และควรมีกำลังลมและแดดเอาไว้บ้าง บางส่วนมีมุมที่เด็กจะเล่นได้ทั้งคนเดียวและเล่นเป็นกลุ่มโดยไม่ห่างสายตาครูนัก ที่สนามเด็กเล่น ควรปลูกต้นไม้ประดับที่ช่วยทำให้สนามสดชื่น แต่ควรจัดเอาไว้ในบริเวณที่เด็กจะไม่เหยียบย่ำ การจัดบริเวณให้เหมาะสมช่วยลดความร้อนจากอุณหภูมิลงได้ ผิวสนามเด็กเล่นที่ดีที่สุดควรเป็นพื้นหญ้า บางส่วนของสนามควรมีบริเวณที่เป็นเนินเพื่อให้เด็กได้เล่นลื่นไถล และทั้งบริเวณควรจะให้น้ำซึมผ่านได้ดี บางส่วนของสนามควรเป็นพื้นแข็งสำหรับให้เด็กเล่นถีบจักยาน และไม่ควรมีก้อนอิฐ ก้อนหิน หรือเศษแก้ว บริเวณบ่อทรายหรือบริเวณที่จะให้เด็กขุดดินควรจะปลอดภัยจากสัตว์ร้ายต่าง ๆ และควรปิดเมื่อไม่ใช้ บ่อทรายที่ก่อสร้างด้วยคอนกรีตจะใช้ได้ง่ายและราคาถูกกว่าถ้าต้องการใช้นาน ๆ สนามเด็กเล่นควรมีรั้วขนาดสูงพอประมาณที่เด็กจะปีนป่ายซึ่งไม่ได้กั้นเอาไว้เพื่อความปลอดภัยบริเวณที่เป็นสนามเด็กเล่น ควรอยู่ทางทิศใต้ของอาคาร เพราะจะได้มีแสงสว่างตลอดเวลา
เบเกอร์ เสนอแนะถึงหลักในการเลือกสนามเด็กเล่นไว้ดังนี้
1. ควรมีความพอเหมาะของเนื้อที่ทั่วทั้งในร่มและกลางแจ้ง
2. ควรมีพื้นผิวสนามที่แข็งเพื่อให้เด็กเล่นขี่จักรยาน เล่นบอล หรือสร้างบล็อก ควรมีบริเวณที่เปิดโล่งและบริเวณที่เป็นสัดส่วนเท่าๆกัน
3. ควรเป็นบริเวณที่เป็นหญ้าสำหรับเล่น วิ่ง
4. ควรเป็นบริเวณสำหรับเลี้ยงสัตว์ บริเวณแปลงเกษตร และบริเวณให้เด็กขุดดิน
5. ควรมีบริเวณให้เด็กเล่นทรายและทำกิจกรรมที่เป็นการเล่น
6. ควรมีบริเวณสำหรับเล่นน้ำ

2.4 เครื่องเล่นสนาม
เยาวภา เดชะคุปต์ (2542:30) กล่าวถึง อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ในการเล่นกลางแจ้ง การเลือกอุปกรณ์ต่าง ๆ ควรขึ้นกับวุฒิภาวะของเด็กแต่ละระดับเป็นเกณฑ์ที่มีวุฒิภาวะเขาจะสามารถใช้วัสดุอุปกรณ์ที่คล้ายคลึงกันแทนกันได้ในกิจกรรมต่าง ๆ แต่เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี ครูควรจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่ใหม่และง่ายจนเกินไป ซึ่งบางครั้งเด็กมักจะใช้เครื่องเล่นที่แตกต่างไปจากผู้ออกแบบคิดไว้ เด็กเล็ก ๆ จะชอบใช้อุปกรณ์ซึ่งใช้แล้วใช้เล่า ดังนั้น อุปกรณ์ที่จัดให้เด็กเล็กจึงควรมีความง่าย เล่นได้หลายอย่าง และก่อให้เกิดการสร้างจินตนาการได้สูง เครื่องเล่นสนามเป็นสิ่งที่ควรตั้งไว้ขอบ ๆ สนามเพื่อให้ง่ายต่อการดูแล และเครื่องเล่นแต่ละชิ้น ควรจัดไว้ให้ห่างกันเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น เครื่องเล่นแต่ละชิ้นควรสร้างและติดตั้งอย่างระมัดระวังและมีการบำรุงรักษาเป็นอย่างดี เครื่องเล่นที่ให้เด็กปีนป่ายหรือแกว่งไกวควรใส่ทรายหรือขี้เลื่อยเอาไว้ข้างล่าง เพื่อป้องกันการเจ็บตัวเมื่อเด็กตกลงมา
จากการที่ผู้สังเกตได้สังเกตเครื่องเล่นสนามของโรงเรียนพบว่า เครื่องเล่นสนามของโรงเรียนเป็นเครื่องเล่นสนามที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้ได้ครบทุกด้าน อีกทั้งยังมีความปลอดภัยเนื่องจากทำมาจากวัสดุที่มีความยืดหยุ่น คือพลาสติกหนา มีขอบกั้นป้องกันการล้มจากเครื่องเล่น พื้นเครื่องเล่นสนามปูด้ายแผ่นยางที่มีความนิ่มป้องกันการได้บาดเจ็บของเด็ก สีของเครื่องเล่นสนามเป็นสีสันที่สดใส ดึงดูดความสนใจของเด็ก อีกทั้งยังให้เด็กได้เรียนรู้ในเรื่อง สี ขนาด รูปทรง รูปร่าง การลื่นไหล แรงโน้มถ่วงของโลกเป็นต้น

2.5 ความปลอดภัยของสภาพภายนอกอาคาร
คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ ( 2535 )ได้กำหนดมาตรฐานขั้นพื้นฐาน ในด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยไว้ดังนี้
1. ควรมีรั้วกั้นบริเวณให้เป็นสัดส่วน เพื่อความปลอดภัยของเด็ก และควรมีทางเข้า – ออก ไม่น้อยกว่า 2 ทาง ถ้ามีทางเดียวต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร
2. มลภาวะ
2.1 ต้องดูแลและกำจัดสิ่งปฏิกูลให้เหมาะสม ไม่ปล่อยให้เป็นแหล่งเพาะหรือแพร่เชื้อโรค
2.2 ต้องมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ และควรตั้งอยู่ห่างจากแหล่งอบายมุข ฝุ่นละออง กลิ่น หรือเสียงรบกวนเกินควร
3. ที่เล่นกลางแจ้งต้องมีพื้นที่เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 . 00 ตารางเมตรต่อเด็ก 1 คนขณะที่เล่น โดยจัดให้มีเครื่องเล่นกลางแจ้งที่ปลอดภัยและมีจำนวนพอสมควรกับจำนวนเด็ก ในกรณีที่ไม่สามารถจัดให้มีที่เล่นกลางแจ้งเป็นการเฉพาะได้ อาจปรับใช้ที่ในร่มแทนก็ได้ โดยมีพื้นที่ตามกำหนดหรืออาจจัดกิจกรรมกลางแจ้งในสถานที่อันเหมาะสม เช่น บริเวณวัด หรือ สวนสาธารณะ เป็นต้น
4. หากมีระเบียง ควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร และหากมีม้านั่งด้วย ระเบียงต้องกว้างไม่น้อยกว่า 1.75 เมตร ขอบระเบียงต้องสูงจากม้านั่งไม่น้อยกว่า 70 เซนติเมตร
จากการที่ผู้ศึกษาได้สังเกตความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน พบว่า บริเวณเครื่องเล่นสนามขนาดใหญ่ เครื่องเล่นสนามทำจากวัสดุที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก พื้นบริเวณเครื่องเล่นสนามปูด้วยแผ่นยางเพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุขณะเล่นของเด็ก บริเวณรอบๆสนามเด็กเล่นมีต้นไม้ขนาดใหญ่ให้ร่มเงา แดดไม่ส่องผ่านมากจนเกินไป ส่วนบริเวณหน้าห้องเรียนเป็นพื้นปูน บริเวณทางเดินแคบ ส่วนบริเวณสนามด้านหน้าโรงเรียนมีความกว้างเพียงพอที่จะให้เด็กทำกิจกรรมได้

2.6 การสะท้อนภาพถ่ายการจัดสภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน

ภาพที่ 2.6.1 สถานที่รับประทานอาหาร
ที่มา : สถานที่รับประทานอาหาร
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์

ผู้ถ่ายภาพ : นางอลิศรา คิดชอบ นักศึกษาโปรแกรมการศึกษาปฐมวัยชั้นปีที่ 3
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์

กิจกรรม : บริเวณหน้าห้องเรียนอนุบาลมีโต๊ะรับประทานอาหาร ที่มีขนาดใหญ่ซึ่งทำมาจากไม้ มีการจัดเรียงโต๊ะรับประทานอาหารให้อยู่ในระดับเดียวกันและจัดเป็นคู่ขนานทั้งสองฝั่ง มีช่องไว้สำหรับเป็นทางเดิน มีหลังคาไว้เพื่อป้องกันแสงแดดและฝน โต๊ะรับประทานอาหาร 1 โต๊ะ เด็กสามารถนั่งได้ประมาณ 5- 10 คน นอกจากนี้บริเวณหน้าห้องเรียนยังมีชั้นวางรองเท้าไว้สำหรับให้เด็กเก็บรองเท้าของตนเองให้ตรงตามสัญลักษณ์และชื่อของตนเอง และยังมีที่แขวนแก้วน้ำโดยจะมีการติดชื่อและสัญลักษณ์ไว้ที่ข้างแก้วของเด็กแต่ละคน เพื่อที่จะทำให้เด็กจำชื่อและสัญลักษณ์ของตนเองได้

ภาพที่ 2.6.2 รางน้ำ
ที่มา : รางน้ำ
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์

ผู้ถ่ายภาพ : นางอลิศรา คิดชอบ นักศึกษาโปรแกรมการศึกษาปฐมวัยชั้นปีที่ 3
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์

กิจกรรม : รางน้ำสำหรับให้เด็กล้างมือและทำความสะอาดสิ่งต่างๆ ควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับเด็ก ไม่สูงจนเกินไป มีก็อกน้ำที่อยู่ในระยะห่างกันเพื่อที่ให้เด็กล้างมือหรือล้างอุปกรณ์โดยที่ไม่เบียดกัน นอกจากนี้ในบริเวณรางน้ำก็จะมีเครื่องทำความสะอาดอุปกรณ์ เช่น ช้อม ส้อม ก็จะมีน้ำที่ผสมกับน้ำยาล้างจานไว้เพียงเล็กน้อยและฟองน้ำสำหรับล้าง เพื่อให้เด็กได้ฝึกการล้างช้อนและส้อมด้วยตัวของเด็กเอง และรางน้ำยังมีประโยชน์สำหรับเด็กอีกประการหนึ่งก็คือ เป็นที่ที่จัดไว้ให้เด็กได้แปรงฟันและล้างมือ


ภาพที่ 2.6. 3 บ่อทราย
ที่มา : บ่อทราย
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์

ผู้ถ่ายภาพ : นางอลิศรา คิดชอบ นักศึกษาโปรแกรมการศึกษาปฐมวัยชั้นปีที่ 3
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์

กิจกรรม : ทางโรงเรียนต้องการให้เด็กมีพัฒนาการให้ครบทั้ง 4ด้านไม่ว่าจะเป็นทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา จึงมาสร้างบ่อทรายขึ้นมาเพื่อที่จะให้เด็กได้รับการพัฒนาให้ครบทุกด้าน บ่อทรายจะติดอยู่บริเวณอาคารเรียนของอนุบาล ซึ่งบ่อทรายนี้จะเป็นบ่อที่มีการฉาบด้วยปูนขึ้นมาเป็นขอบ ล้อมรอบต้นไม้ใหญ่ มีการตกแต่งขอบของบ่อทรายด้วยการทาสีเพื่อให้ดูมีสีสันที่สวยงาม ภายในบริเวณบ่อทรายยังมีความสกปรกเนื่องจากมีเศษกระดาษและขยะอยู่ตรงบ่อทราย มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมให้ร่มเงา มีแสงสว่างเพียงพอเหมาะสมในการเล่น

ภาพที่ 2.6. 4 สนามเด็กเล่น

ที่มา : สนามเด็กเล่น
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์

ผู้ถ่ายภาพ : นางอลิศรา คิดชอบ นักศึกษาโปรแกรมการศึกษาปฐมวัยชั้นปีที่ 3
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูประถัมภ์

กิจกรรม : เครื่องเล่นสนามของโรงเรียนเป็นเครื่องเล่นสนามที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้ ครบทุกด้าน อีกทั้งยังมีความปลอดภัยเนื่องจากทำจากวัสดุที่มีความยืดหยุ่น คือทำด้วยพลาสติกชนิดหนา มีขอบกั้นป้องกันการล้มจากเครื่องเล่น บริเวณพื้นเครื่องเล่นสนามปูด้วยแผ่นยางที่มีความนิ่มและป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับเด็ก เครื่องเล่นสนามมีสีสันที่สดใส มีความดึงดูดความสนใจของเด็กทำให้เด็กเกิดความอยากที่จะเล่น อีกทั้งยังทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ในเรื่องของ สี ขนาด รูปทรง รูปร่าง การลื่นไหล แรงโน้มถ่วงของโลก



บทที่ 3
สรุปผลการศึกษาสังเกตการจัดสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกห้องเรียน
ในสถานฝึกปฏิบัติวิชาชีพครู


การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยในโรงเรียน ศักยภาพในการทำงานส่วนหนึ่งของครูปฐมวัย คือ การจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับเด็กถือได้ว่า มีอิทธิพลต่อเด็กปฐมวัย เพราะสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกห้องเรียน ของใช้ อุปกรณ์และเครื่องเล่น เป็นส่วนส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กปฐมวัย การที่ครูปฐมวัยจะสามารถปฏิบัติงานในงานในหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์นั้น จะต้องมีความรู้ความเข้าใจ ในการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็กทั้งภายในและภายนอกห้องเรียนได้เป็นอย่างดี จึงจะทำให้งานในหน้าที่ของครูปฐมวัยมีประสิทธิภาพตรงกับวัตถุประสงค์ของการศึกษาปฐมวัย การจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียน ระดับปฐมวัยทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน มีความสำคัญและมีผลต่อพฤติกรรมและการพัฒนาของเด็ก เนื่องจากธรรมชาติของเด็กวัยนี้จะเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ดังนั้น การจัดเตรียมสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมจะช่วยให้การเรียนรู้ของเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ( สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ , ม.ป.ป. ) การจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนสำหรับปฐมวัย นับว่ามีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างยิ่ง ซึ่ง Brewer ( 1995 ) ได้ให้แนวทางในการจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนไว้ดังนี้
- พื้นที่ภายในห้องเรียนสามารถปรับใช้ได้หลายกิจกรรม เนื่องจากห้องเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กบางแห่งมีพื้นที่จำกัด ดังนั้นพื้นที่ที่ใช้ต้องสามารถจัดกิจกรรมได้มากกว่า หนึ่งกิจกรรม เช่น มุมบล็อก สามารถใช้เป็นที่เล่านิทานได้ในช่วงเวลาอื่น
- กิจกรรมที่ใช้น้ำ ควรจัดให้อยู่ใกล้แหล่งน้ำให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งรวมถึง มุมศิลปะ มุมวิทยาศาสตร์ มุมน้ำ
- กิจกรรมที่เงียบควรตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน เพื่อที่เด็กที่ต้องการทำงานเงียบ ๆ สามารถใช้ได้ แต่ “ ความเงียบ ” ไม่ได้หมายถึงเด็กไม่สามารถพูดได้ แต่หมายถึงกิจกรรม ในมุมหนึ่งคือมุมการเขียน มุมการฟัง ที่ใช้ เลี้ยงในการทำงานน้อยกว่ากิจกรรมในมุมอื่น
- กิจกรรมที่มีเสียงดัง เช่น มุมบล็อก มุมบทบาทสมมุติ การจัดให้อยู่ในบริเวณเดียวกันภายในอีกด้านหนึ่งของห้องเรียน ห่างจากกิจกรรมที่เงียบ
การจัดสภาพแวดล้อมที่ดีที่เหมาะกับเด็กปฐมวัยนั้นจะช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของเด็กตามแนวคิดของนักจิตวิทยา เช่น เฟรอเบล มอนเตสซอรี่ และเพียเจท์ ซึ่งให้ความเห็นตรงกันว่า เด็กเล็กๆ นั้นจะเรียนรู้โดยลงมือกระทำในสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนและกระตุ้นการตอบสนองของเด็กในโรงเรียนอนุบาล จึงมีการจัดสภาพแวดล้อมในลักษณะดังกล่าวทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน โดยมีการจัดประสบการณ์ที่สอดคล้องกับหลักจิตวิทยาพัฒนาการและทฤษฎีการเรียนรู้ของเด็ก มีการจัดสื่อที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้และได้รับประสบการณ์ตรง ส่วนทางด้านเนื้อหาจะจัดรวมกันในลักษณะบูรณาการเป็นหน่วยการสอน และจัดให้เด็กเรียนรู้ในรูปของกิจกรรมที่เปิดกว้าง เพื่อให้เด็กแต่ละคนได้เลือกทำตามความสนใจและความสามารถ โดยกำหนดประสบการณ์ดังกล่าวลงในตารางกิจกรรมประจำวัน ซึ่งมีการกำหนดระยะเวลาสำหรับการทำ กิจกรรมแต่ละช่วงไม่นานเกินไป และเป็นกิจกรรมหนักเบาสลับกัน ตั้งแต่กิจกรรมในร่มและกลางแจ้ง การจัดสภาพแวดล้อมดังกล่าวจึงเป็นการจัดประสบการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กให้เด็กได้พัฒนาในทุกๆ ด้าน เพื่อเป็นพื้นฐานของการพัฒนาในวัยต่อไป
จากการที่ได้ศึกษาสังเกตและจดบันทึกสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนพบว่า การจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียน มีจำนวนห้องเรียนครบตามจำนวนชั้นที่โรงเรียนจัด พื้นห้องจะปูด้วยกระเบื้องสีขาว มีหน้าต่างอยู่ในระดับสายตาของเด็ก แต่อากาศไม่ถ่ายเทเพราะด้านหน้าของห้องเรียนเป็นอาคารเรียนของชั้นประถมศึกษา ดังนั้นทางโรงเรียนจึงต้องใช้เครื่องปรับอากาศเป็นตัวช่วยในการที่จะให้อากาศถ่ายเท แต่ห้องเรียนที่เด็กนักเรียนอนุบาลเรียนอยู่นั้นน่าจะได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ที่มาจากธรรมชาติมากกว่าที่จะได้รับจากเครื่องปรับอากาศ เพราะถ้าเด็กอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศนานๆและในระยะเวลาที่บ่อยครั้งอาจจะทำให้เด็กได้รับเชื้อโรคที่สามารถแพร่กระจายได้ ภายในห้องอนุบาลนั้นมีมุมประสบการณ์ทั้งหมด 7 มุม คือ มุมเกมการศึกษา มุมบล็อก มุมดนตรี มุมอ่าน มุมบทบาทสมมุติ มุมศิลปะสร้างสรรค์ และมุมวิทยาศาสตร์ มุมแต่ละมุมสามารถเคลื่อนย้ายได้ ส่วนพื้นที่กลางห้องเป็นพื้นที่โล่ง มีไว้สำหรับให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆและเรียนหนังสือ ส่วนในเรื่องของความปลอดภัยในห้องเรียน บริเวณพื้นของห้องเรียนจะเป็นปูนที่ปูพื้นด้วยกระเบื้องไม่เหมาะที่จะให้เด็กวิ่งเล่น เพราะอาจเกิดอันตรายได้ในขณะที่เด็กทำกิจกรรม ประตูของห้องเรียนเป็นกระจกยากที่เด็กจะเปิดได้ เนื่องจากเด็กบางคนกล้ามเนื้อมือยังไม่แข็งแรงก็ไม่สามารถที่จะเปิดได้ด้วยตนเองจึงของความช่วยเหลือจากครูให้ช่วยเปิดประตูให้ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ภายในห้องเรียนไม่แหลมคม ที่เสียบปลั๊กไฟอยู่สูงพ้นมือของเด็ก เครื่องทำความสะอาดไม่ว่าจะเป็นน้ำยาล้างจาน ผงซักฟอกอยู่พ้นมือเด็ก สภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนมีความสะอาดเพราะว่า ครูทำความสะอาดทั้งตอนเช้าและตอนเย็น บริเวณห้องเรียนมีแสงสว่างส่องถึงอย่างเพียงพอ ส่วนการจัดสภาพแวดล้อมภายนอก Brewer ( 1995 ) กล่าวว่า บริเวณพื้นที่ภายนอกควรมีรั้วที่มั่นคง มีพื้นที่ในร่มสำหรับทำกิจกรรมในเวลาฝนตกหรือแดดร้อน พื้นควรประกอบด้วย พื้นผิวหลายแบบ และมีเครื่องเล่นเพื่อให้เด็กพัฒนาร่างกาย นอกจากพื้น ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ หรือวัสดุต่าง ๆ ให้เด็กได้ก่อสร้างเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ มีที่ว่างให้เด็กได้ขุดดินมีกระบะทราย และอุปกรณ์ทำสวน นอกจากนี้ยังสามารถจัดกิจกรรมการวาดรูป ระบายสีด้วยสีน้ำ โดยจะต้องเตรียมโต๊ะ พู่กัน กระดาษ และสีไว้ด้วย
จากการที่ได้ศึกษาสังเกตและจดบันทึกสภาพแวดล้อมภายนอกโรงเรียนพบว่า บริเวณหน้าห้องเรียนอนุบาลมีโต๊ะยาวและขนาดใหญ่ ไว้สำหรับรับประทานอาหาร มีอ่างล้างมือซึ่งมีจำนวนเพียงพอสำหรับเด็ก ที่ทำไว้ให้เด็กสามารถทำความสะอาดร่างกายและอุปกรณ์ของตนเองได้ เช่น การล้างมือหลังจากทำกิจกรรมและรับประทานอาหารเสร็จ ล้างช้อนและส้อมเมื่อรับประทานอาหารเสร็จ ล้างแก้วนมเมื่อดื่มนมเสร็จ และการให้เด็กได้แปรงฟันก่อนนอน ซึ่งการที่ให้เด็กได้ทำความสะอาดมือและอุปกรณ์ของตนเองเป็นการส่งเสริมสุขลักษณะที่ถูกต้องกับเด็ก บริเวณที่รับประทานอาหารและรางน้ำนั้นจะมีหลังคาคลุมอยู่เพื่อให้เกิดร่มเงาแก่เด็กขณะที่ทำภารกิจอยู่ ส่วนห้องน้ำของเด็กอนุบาลทางโรงเรียนจะจัดให้อยู่นอกบริเวณห้องเรียน ห้องน้ำจะอยู่ไกลจากอนุบาล 3 และอนุบาล 2 แต่จะอยู่ใกล้กับอนุบาล 1 และจำนวนห้องน้ำมีเพียงพอสำหรับเด็ก ส่วนสนามเด็กเล่นมีทั้งเครื่องเล่นสนามและบ้านไม้จำลองจะอยู่ติดกับอนุบาล 3 บริเวณสนามเด็กเล่นจะมีพื้นที่แคบ และเป็นพื้นยางผสมด้วยพื้นปูน มีต้นไม้ใหญ่ที่คอยให้ร่มเงา มีเครื่องเล่นสนามอยู่ 5 ชนิด คือ บ้านไม้จำลอง ชิงช้า กระดานลื่น บ่อทราย อุโมงค์สำหรับเด็กลอด เครื่องเล่นที่มีอยู่จึงใช้ได้ทั้งเด็กประถมและอนุบาล เครื่องเล่นบางอย่างควรมีการซ่อมแซม บ่อทรายไม่สะอาดยังเศษกระดาษและขยะผสมอยู่ในทราย ดังนั้นบ่อทรายจึงควรได้รับการทำความสะอาดทุกวันเพื่อความสะอาดของเด็ก การตกแต่งบริเวณและเนื้อที่ เนื่องจากโรงเรียนทางมีพื้นที่จำกัดจึงไม่สามารถตกแต่งบริเวณและเนื้อที่ได้มากนัก แต่หน้าห้องเรียนอนุบาลทุกห้องจะมีบอร์ดแสดงผลงานของเด็กหรือจัดแสดงภาพต่างๆ ตามวันสำคัญ ส่วนความปลอดภัยภายนอกห้องเรียน ความปลอดภัยบริเวณหน้าห้องเรียนเป็นพื้นปูน บริเวณทางเดินแคบ ส่วนบริเวณสนามมีความกว้างพอที่จะให้เด็กทำกิจกรรมตั้งแต่ประถมจนถึงอนุบาล ทางโรงเรียนจัดให้มีการใช้พื้นที่เดียวกันในการทำกิจกรรมต่างๆ เครื่องเล่นแต่ละชนิดก็เริ่มชำรุดควรที่จะได้รับการปรับปรุง บางครั้งตรงสนามเด็กเล่นก็จะมีรถมาจอด ซึ่งก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับเด็กได้ และมีสุนัขเข้ามาภายในโรงเรียน ซึ่งอาจก่อให้เกิดพาหะนำโรคและเด็กอาจจะถูกทำร้ายได้ ดั้งนั้นควรที่จะปิดประตูทุกครั้งที่เข้าออก เพื่อป้องกันการเกิดโรค



บรรณานุกรม



เบญจา แสงมะลิ. (2531). การจัดห้องเรียนและสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาปฐมวัย. ในเอกสาร
การสอนชุดวิชาฝึกอบรมครูและผู้เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย หน่วยที่ 5 .
นนทบุรี. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
บุญเยี่ยม จิตรดอน และ ราศี ทองสวัสดิ์. ( 2532). การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมประสบการณ์
ชีวิตแก่เด็กปฐมวัย. ในเอกสารการสอนชุดวิชาการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตระดับ
ปฐมวัยศึกษา หน่วยที่ 12. นนทบุรี. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
บุญเสริม พูลสงวน. (250). ความรู้พื้นฐานทางสิ่งแวดล้อม. ในเอกสารการสอนชุดวิชาวิทยาการ
สิ่งแวดล้อมสำหรับโรงเรียนและชุมชน หน่วยที่ 1. กรุงเทพฯ.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2546). หลักการและแนวคิดทางปฐมวัยศึกษา. หน่วยที่ 9 – 12.
เยาวภา เดชะคุปต์. (2542). การจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย. กรุงเทพฯ : เอพีกราฟฟิกส์ ดีไซน์
วรี เกี๋ยสกุล. (2547). หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยกับกระบวนการเรียนรู้. คณะครุศาสตร์ สถาบันเทพสตรี.